วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การทำคำกริยาให้เป็นคำขยายคำนาม (คำคุณศัพท์หรือadjective)

การทำคำกริยาให้เป็นคำขยายคำนาม (คำคุณศัพท์ หรือ adjective)

ต้องอธิบายความหมายและหน้าที่ของคำ adjective ก่อนนะครับว่า เป็นคำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม อาจบอกถึง ลักษณะ สี ขาวดำต่ำสูง จำนวน และอื่นๆที่เป็นคำบอกลักษณะของคน สัตว์ สิ่งของนั่นแหละครับ (ในที่นี้จะไม่บอกละเอียดนะครับ เพราะเดี๋ยวจะหมดสนุกและจะงง) เช่น แมว--ดำ (คำว่า ดำ เป็นคุณศัพท์ หรือ adjective) หมา 9 ตัว (คำว่า เก้าตัว เป็นคำคุณศัพท์เพราะขยายหมาว่ามีเก้าตัว) ภูเขาสูง (คำว่า สูง เป็น คุณศัพท์ เพราะขยายภูเขา) เขา-เสียใจ (คำว่าเสียใจ บอกอารมณ์ของคน เป็น คุณศัพท์)

ตำแหน่งของคำคุณศัพท์ในประโยค
1. วางไว้หลังคำนาม โดยต้องมี V.to be มาไว้ระหว่างคำนามกับคุณศัพท์ He is sad. The cat is black.
2. วางไว้หน้าคำนาม เช่น The black cat The sad man. The white dog.

ในประโยคภาษาอังกฤษ อาจมีการทำคำกริยาให้เป็นคำคุณศัพท์ด้วย (ก็ไม่อธิบายละเอียดอีกนั่นแหละ คือพอให้รู้นะครับ) โดยการเติม en เข้าไปข้างหลังคำกริยาแล้วโยกเอามาไว้ข้างหน้าคำนาม (ตามหลักตำแหน่งของคำคุณศัพท์นั่นแหละ หรือ เติม ed หรือเปลี่ยนรูปนิดหน่อย (การเปลี่ยนรูปต้องไปศึกษาเอาเองครับ บางทีหลักการเติม ed ต้องไปศึกษาเรื่องกริยาสามช่องนะครับ คือการเปลี่ยนกริยาให้เป็นกริยาช่องที่สาม พูดอีกอย่างพวกเนี๊ยะ มันจะไปสัมพันธ์กับ passive voice เหมือนกัน) ยิ่งพูด..ยิ่งงง เราเอาแค่เติม en กับ ed ก็พอนะครับ เช่น

The bicycle was stolen (เป็น passive voice อีกแล้ว เห็นไหมครับ) จักรยานถูกขโมย
เราต้องการที่จะนำ V. มาให้เป็นคำขยายคำนามก็คือเอา stolen มาไว้ที่หน้าคำนาม คือ The stolen bicycle แปลว่า จักยานที่ถูกขโมย

หรือ
The car is broken. รถยนต์เสีย (รถยนต์เสียเองไม่ได้ มันต้องถูกทำให้เสีย จึงใช้ passive voice อีกแล้ว) ทำให้มาขยายคำนามเสียก็เป็น The broken car (ไม่ใช่ the broke car) แปลว่า รถที่ (ถูกทำให้) เสีย The line is twisted. เส้นถูกทำให้บิดๆ เบี้ยวๆ เป็น The twisted line เส้นที่ (ถูกทำให้) บิดๆ เบี้ยวๆ

ดังตัวอย่างนะครับ The westerner was beheaded (เป็น V.behead แปลว่าตัดหัว เป็น passive voice โดยการเติม V.to be เข้าไปแล้ว กริยาเปลี่ยนเป็นช่องที่สาม แปลว่าถูกตัดหัว) ทำให้มาขยายคำนามเสียโดยทำรูปประโยคเป็น The beheaded westerner แปลว่า ฝรั่งที่ถูกตัดหัว..ครับ)

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การออกเสียงในภาษาอังกฤษ

วันนี้จะเขียนเรื่องการออกเสียงในภาษาอังกฤษซึ่งมันมีผลทั้งการคุยให้ฝรั่งฟัง และการฟังฝรั่งพูด ต้องยอมรับว่า ภาษาอังกฤษนั้นใช้กันทั่วโลก หลายประเทศก็ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่ แต่สำเนียงจะไม่เหมือนกันครับ สำเนียงอเมริกันก็อย่างหนึ่ง อังกฤษก็อย่างหนึ่ง ไอริชก็อย่างหนึ่ง ออสเตรเลียก็อีกอย่างหนึ่ง (ขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมไม่ใช่นักเรียนนอกที่ไหน เป็นแค่นักเรียนบ้านนอก แต่เคยทำงานกับบริษัททัวร์มาประมาณเกือบสิบปี จึงทำให้คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษอยู่พอควร)


ตอนเข้าทำงานบริษัท ทัวร์ใหม่ๆ ซึ่งบริษัททัวร์นั้นส่วนใหญ่จะรับนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษกับออสเตรเลีย ซึ่งเราก็คิดว่าคงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่พอเจอแขกออสเตรเลีย เราเรียกกันว่าแขกออซซี่ (ไม่ใช่แขก..แต่เป็นฝรั่ง.. แต่เรียกติดปากว่าแขก เพราะเป็นผู้มาเยือน..กรุณาอย่างง) แทบลมจับ เพราะสำเนียงเขาจะเพี้ยนจากอเมริกันกับอังกฤษ ฟังแทบไม่รู้เรื่อง (แต่ไม่ได้มากมายอะไร แค่ออกสระไอ เป็นสระออย ..สระเอเป็นสระอาย เป็นต้น) อย่างเช่น ไทยแลนด์ เขาจะออกเสียงเป็น ทอยแลนด์ หรือ ทูเดย์ เป็น ทูดาย อ้า.. ทอยแลนด์ ..ไอ้เราก็ฟังเป็นเมืองของเล่น ยิ่งเขาออกเสียงทูเดย์ เป็นทูดายแล้ว เฮ้ย.. ตูยังไม่ตาย เป็นต้น.. เล่นเอาปรับตัวอยู่พักใหญ่ ถึงจะฟังแขกออซซี่ (ฝรั่งออสเตรเลีย)


ที่ยกมานี้ ก็เพียงจะบอกว่า ถ้าเราคุยกับฝรั่งแล้วออกสำเนียงผิด ผมไม่แน่ใจว่าฝรั่งจะฟังกันรู้เรื่องมากขนาดไหน หรือบางอย่างเขาฟังแล้วอาจแอบหัวเราะงอหายไปเลยก็ได้ ยกตัวอย่างนะครับเช่น foot กับ food


ถ้าถามเขาว่า Do you eat food? ดู ยู อี๊ท ฟู้ด แล้วออกเสียงเป็น ฟุ้ท (foot) ขึ้นมาล่ะ... คงจะต้องมีการ.....ต้มกระดูกไก่กันแน่ๆ คนที่พูดอังกฤษบางคนไม่ได้ให้ความสนใจกับตัวสะกดในภาษาอังกฤษ อันนี้ล่ะครับ มีความสำคัญมากๆ ตัวสะกดเนี่ยเวลาพูดจะต้องออกให้ชัดนะครับ หัดออกไปเถอะ จะได้คุ้นเคย คนไทยฟังกันแล้วหาว่าดัดจริตก็ช่างมันเถอะ เราพูดถูกซะอย่าง หัดออกเสียงกันนะครับเช่น

food (ฟู๊ด-ดึ) foot (ฟุท-ถึ) (ตัว สะกดตามหลังออกเสียงเบาๆ ก็พอครับ ไม่ต้องถึ จนน้ำลายเต็มหน้าฝ่ายตรงข้าม ให้ดึ หรือ ถึ ออกมาผ่านริมฝีปากเบาๆ ก็พอแล้ว คำที่ลงท้ายด้วย ch sh t d v f อะไรพวกเนี้ย.. ควรฝึกออกเสียงตัวสะกดให้ชัดนะครับ เสียง ch sh ก็ออกเสียง ฉึ (ฉึ ก็ยื่นปากออกมาหน่อย ไม่ต้องกลัวน่าเกลียด) ลองยกตัวอย่างอีกตัวอย่างนะครับ

Do you accept cash? (แคช-ฉึ) คุณรับเงินสดไหม?
Do you accept cat? (แค้ ด (ตามที่คนไทยออกเสียง ยิ่งไม่รู้เรื่องใหญ่) หรือ แค้ท-ถึ) คุณรับแมวไหม ถ้าเราไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้าแล้วถามเขาว่า รับแมวไหม เขาคงหาว่าบ้า)


เห็นไหมครับว่า ตัวสะกดเนี่ย มีความสำคัญขนาดไหนในการออกเสียง


พรุ่งนี้ผมว่าจะเขียนเรื่องการออกเสียงต่ออีกวันหนึ่งครับ ประเภท Ex หรือ ed ฯลฯ และคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ เวลาเขาออกเสียงน่ะครับ ออกเสียงว่ายังไง จริงๆแล้วว่าจะเขียนวันนี้ แต่มัวอารัมภบทยาวไปหน่อย พรุ่งนี้มาต่อกันอีกวันนะครับ

บ้านใครติดทรู แนะนำให้ดูช่อง 24 นะครับ (ผมดูเกือบทุกวัน สนุกดี) ทรูซีรี่ส์ จะเป็นซีรี่ส์ของฝรั่ง (บางรายการมีช่องของแขก..เอ้ย.. ฝรั่งออสเตรเลียด้วย มันส์มาก ขอบอก) มี subtitle เป็นภาษาไทยครับ ใช้ฝึกภาษาได้ดีมาก

*****************************************
มาว่ากันต่อครับ
การอ่านออกเสียงในภาษาอังกฤษ บางครั้งก็ยุ่งยาก เราจะออกเสียงถูกหรือผิด ก็แล้วแต่ประสบการณ์นะครับ
ทาง ที่ดีนั้นจะต้องพกดิกชันนารีไว้ติดตัวครับ แล้วหัดอ่านภาษา phoenetic (โฟเนทิค) คือภาษาสัญลักษณ์ ซึ่งในดิคชันนารีบางเล่มจะมีบอกไว้ มันเป็นสัญลักษณ์ที่จะบอกว่า คำนั้นๆ จะออกเสียงยังไง แล้วเลือกดิคชันนารีที่มีคำอ่านที่มีภาษา phoenatic กำกับนะครับ (จะดีกว่าเล่มที่มีคำอ่านเป็นภาษาไทย) ทางที่ดีคือเลือกดิคชันนารีที่มีแปลอังกฤษเป็นอังกฤษก็ได้ เราจะแปลไม่ออกก็ช่างมัน เอาแค่ภาษา phoenetic ไว้สำหรับอ่านออกเสียงก็พอ

ความยุ่งยากในการออกภาษาอังกฤษก็มีพอสมควร อย่างเช่นคำว่า

ex ในภาษาอังกฤษ ถ้ามีคำว่า ex นำหน้า ส่วนใหญ่จะออกเสียงว่า อิก ไม่ใช่เอ็กซ เช่น experience อ่านว่า อิก-พี๊-เหรี่ยนส ไม่ใช่ เอ๊กซพีเหรี่ยนส หรือ expect อ่านว่า อิ่กซ-เป๊ค ไม่ใช่ เอ็กซ-เป่ก แต่ก็ไม่ใช่ทุกคำนะครับ มันก็มีคำยกเว้นบ้าง เช่น ex-wife ก็อ่านว่า เอ็กซ-ไวฟ์ หรือ exercise อ่าน เอ็กซ-เซอ-ซายส์ ผมถึงบอกว่าต้องเปิดดิกเอาไงครับ ถึงจะรู้ว่า คำไหนอ่านว่าอะไร ส่วนคำที่ลงท้าย ด้วย ex ให้อ่านว่า เอ่ก ปรกติครับ เช่น index อิน-เด็กซ

***********************************************

คำที่ลงท้ายด้วย ed

อัน นี้ปวดหัวครับ โดยเฉพาะการที่ทำเป็นกริยาช่องทีสองและสาม มีการออกเสียงที่แตกต่างกันมากแต่เราจะไม่พูดถึงมากมาย ส่วนใหญ่แล้ว คำที่ลงท้ายด้วย ed เราชอบออกเสียงเป็น เต็ด จริงๆ เราต้องออกเสียงว่า ถิ่ด เช่น limited เราชอบออกเสียงว่า ลิ-มิ-เต็ด เราต้องออกเสียงว่า ลิ-มิ-ถิ่ด หรือ คำว่า ness เขาไม่ได้ออกเสียงว่า เน็ส แต่จะออกเสียงว่า หนิ่ส เช่น madness ออกเสียงว่า แม๊ด-หนิ่ส

**************************************************

อักษรที่นำหน้าด้วยตัว k, C, P
อันนี้จำเอาไว้ได้เลยนะครับ
ถ้าเป็นอักษรนำ ตัว k จะออกเสียง ค ควาย เช่น king คิง key คีย์ kind คายน์
อักษรตัว C เป็นอักษรนำ จะออกเสียง ค ควาย เช่น car คาร์ can แคน could คู๊ด calf คาร์ฟ
อักษรนำตัว P จะออกเสียงเป็น พ พาน เช่น pen เพ็น pine ไพน์

อ้าว แล้วแปลกยังไงหว่า!

แปลกซีครับ
ถ้าเป็นอักษรนำเดี่ยวๆ ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถ้ามารวมกับตัว S แล้วเนี่ย มันจะเปลี่ยนการออกเสียงไปเลยครับ
ถ้าอักษรนำ้เป็น sk ตัว k จะเปลี่ยนเป็นการออกเสียงจาก ค ควาย เป็น ก ไก่ ทันที เช่น sky อ่านว่า สะ-กาย

อักษรนำเป็น sc ตัว c จะเปลี่ยนจาก ค ควาย เป็น ก ไก่ เช่น school อ่านว่า ซ-กูล (สะกูล) scout ซ-เก๊าท์
(สะ เก๊าท์ ไม่ใช่ สะเค้าท์) แต่มีเหมือนกันที่เปลี่ยนเป็นซ โซ่ หรือ ช ช้าง เช่น scent อ่านว่า เซ้นท์ schedule อ่านว่า เช็ด-ยู่ล หรือ สะ-เก๊ด-ยู่ล หรือเช็ด-จ้วล (โอย ปวดหัว ขนาดฝรั่งเองยังออกเสียงไม่เหมือนกันเลยครับ

อักษรนำเป็น sp เปลี่ยน จาก พ พาน เป็น ป ปลา เช่น spain สะ-เปน spy สะปาย ไม่ใช่ สะเพน หรือสะพาย

************************************************

อ่ะ แถมให้ การออกเสียงที่ลงท้ายด้วย le re ile

คำที่ลงท้าย ด้วย le re น่ะครับ เช่น file fire อ่านว่า ฟาย-เ่่อ่อะ คือ ออกเสียง เอ่อะ เล็กๆที่ท้ายคำ ไม่ใช่ออกเสียงว่า ฟาย require อ่านว่า รี-ควาย-เอ่อะ นะครับ crocodile คร๊อก-โค-ดาย-เอ่อะ ไม่ใช่ คร๊อก-โค-ดาย อย่าอายที่จะออกเสียงเอ่อะ นะครับ

*******************************************************

คำที่ลงท้ายด้วย er

คำ ที่แปลงจากคำกริยาเป็นนำนามแล้วเติม er ตามหลังน่ะครับ เช่น play -- player ไม่ใช่อ่านว่า เพลย์-เย่อ นะครับ อ่านว่า เพลย์-เอ่อะ ออกเสียงเอ่อะ นิดนึง พอให้ได้ยินนะครับ แต่ออกเสียง เพลย์ให้เต็มเสียง (แต่ออกเสียงเอ่อะ นิดเดียว) runner ไม่ใช่ รัน-เน่อร์ แต่เป็น รัน-เหนอะ หรือ whisper ไม่ใช่วิส-เป้อ แต่ออกเสียงว่า วิส-เผอะ
เหนื่อยครับ การออกเสียงแบบฝรั่ง แต่อย่ากลัวที่จะออกเสียงแบบเค้านะครับ เพราะถือว่าพูดภาษาของเขา ไม่ใช่ภาษาของเรา ออกเสียงให้ถูกเถอะครับ ตอนผมทำงานทัวร์ใหม่ๆ น่ะ ศัพท์แสงอะไรไม่ค่อยเก่งกับเขาหรอกครับ อาศัยสำเนียงดี (ไม่ได้ชมตัวเอง แต่อาศัยที่ตัวเองดูหนังหรั่งบ่อยๆ แล้วจะได้สำเนียงของเขาเองน่ะครับ รวมถึงสำนวนของเขาด้วย) อย่าลืมนะครับ ดูหนังฝรั่งให้มากๆ พกดิคชันนารีเล่มเล็กๆ ก็ได้ครับ แล้วจะเก่งไปเอง

******************************************

วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

passive voice

passive voice คือลักษณะของประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ

ธรรมดาประโยคในภาษาอังกฤษที่เราจะพูดคือ ประธาน (ผู้กระทำ) + กริยา + กรรม (ผู้ถูกกระทำ)

แต่ ในประโยคในภาษาอังกฤษจะมีการแต่งประโยคโดยการนำผู้ถูกกระทำ มาขึ้นหน้าประโยค (เป็นประธานของประโยค ในกรณีที่เขาจะย้ำในประโยคว่ากรรม เป็นผู้ถูกกระทำ หรือสิ่งที่ถูกกระทำนั้น เป็นสิ่งของที่ไม่มีชีวิต คือ สิ่งที่ไม่มีชีวิตน่ะ ทำอะไรใครไม่ได้อยู่แล้ว)

โดยรูปของประโยคคือ ประธาน (ที่เป็นผู้ถูกกระทำ) + กริยา + ผู้กระทำ

โดยเน้นที่การเปลี่ยนรูปกริยา จะกล่าวเป็นภาษาไทยหน่อยนะครับ เช่น คน + ตี + สุนัข

เราจะเปลี่ยนเป็น passive voice โดยพูดว่า สุนัข + โดนตี + โดยคน

ในภาษาอังกฤษคือ Somsak rides a bicycle สมศักดิ์ขี่จักรยาน

เราก็เปลี่ยนเป็น passive voice ซะ โดยคุณสมบัติการสลับที่ครับ เป็น A bicycle rides Somsak

อย่าเพิ่งท้วงครับ ผมกำลังจะแสดงให้เห็นว่า ถ้าเราสลับที่ระหว่างผู้ถูกกระทำกับผู้กระทำเท่านั้น ยังไม่ได้
(ประโยคนี้ ถ้าแปลกลับแล้วจะแปลว่า จักรยาน ขี่ สมศักดิ์ ครับ ซึ่งแหม่งๆ พิกล)

จึงต้องมีการเปลี่ยนรูปของกริยาด้วย โดยการเปลี่ยนจากกริยาช่องที่ 1 เป็นกริยาช่องที่ 3 (อันนี้ต้องไปท่องเอานะครับว่ากริยาสามช่องน่ะมันเปลี่ยนรูปยังไง ส่วนใหญ่แล้วเติม ed ไปท้ายกริยานะครับ แต่ก็มีข้อยกเว้นหลายอย่าง ต้องไปซื้อหนังสือกริยาสามช่องมานั่งท่องเอาเอง เล่มไม่กี่บาทครับ อยากเก่งต้องลงทุน อิอิ) แล้ว ต้องเติม V.to be ไปข้างหน้ากริยาช่องที่สามด้วย รูปคือ V.to be + V. ช่องที่ 3

สรุปแล้ว ประโยคนี้ จะทำให้สมบูรณ์โดยเป็นดังนี้

A bicycle is ridden by Somsak. แปลว่า จักรยาน+ ถูกขี่ + โดยสมศักดิ์

คือ ผู้ถูกกระทำ + V.to be + V. ช่องที่สาม (ช่องที่สามของ ride คือ ridden ครับ) แล้วเติมคำว่า by แปลว่า โดยเข้าไปข้างหน้าผู้กระทำ คือ สมศักดิ์

สมบูรณ์แล้วนะครับ จริงๆ แล้ว รายละเอียดมีมากกว่านี้เยอะ วันหลังจะมาเขียนเพิ่มเติมนะครับ วันนี้เอาแค่นี้ก่อน